กระดูกแตกบริเวณส่วนปลายของกระดูกน่อง (Isolated vertical fracture of the distal third of the fibula)
กลไกการบาดเจ็บ เป็นการบาดเจ็ยของข้อเท้าขณะที่ข้อเท้าบิดเข้าด้านใน ขณะที่ข้อเท้าอยู่ในท่ากระดกลง
อาการ ผู้ป่วยมีอาการเหมือนผู้ป่วยที่มีลัษณะของข้อเท้าพลิก ร่วมกับมีอาการปวดอย่างมากในบริเวณส่วนปลายหนึ่งในสามของกระดูกน่อง (pain of the distal third of the fibula)
ขอบเขตของความผิดปกติ ถึงแม้ว่าแรงของน้ำหนักร่างกายส่วนใหญ่จะส่งผ่านไปยังบริเวณกระดูกแข้ง (tibial bone) ซึ่งจะมีน้ำหนักประมาณหนึ่งในหกที่ส่งผ่านไปยังกระดูกน่องโดยผ่านทาง interosseous membrane ดังนั้นผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักในบริเวณนี้ก็สามารถที่จะเดินได้อยู่ แต่จะมีความรู้สึกไม่สบายแตกต่างกัน ในบริเวณที่เกิดกระดูกหักซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณของน้ำหนักที่ลงบนระยางค์ส่วนล่าง
การตรวจร่างกาย จากการคลำจะพบจุดกดเจ็บในบริเวณของกระดูกส่วนปลายหนึ่งในสามของกระดูกน่อง
ภาพถ่ายทางรังสี จะพบมีลักษณะของรอยกระดูกหักบริเวณหนึ่งในสามของส่วนปลายของกระดูกน่อง ซึ่งบ่อยครั้งมักจะเห็นได้ชัดจากภาพถ่ายทางรังสีจากภาพถ่ายทางด้านข้าง (lateral views) และภาพถ่ายในท่า mortise
การรักษา
เนื่องจากการเกิดกระดูกหักในตำแหน่งอาจเกิดขึ้นร่วมกับการบาดเจ็บของเส้นเอ็นบริเวณข้อเท้าซึ่งต้องการการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ดังนั้นควรทำการดามบริเวณข้อเท้าเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหว และส่งผู้ป่วยไปให้แพทย์ออร์โทปิดิกส์เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป โดยปกติถ้าเป็นกระดูกหักที่บริเวณนี้เพียงอย่างเดียวมักให้การรักษาด้วยการดามขาประมาณ 3-6 สัปดาห์ การดามขาสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้ามักจะทำให้เกิดการลีบและสูญเสียความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ร่วมกับการสูญเสียพิสัยการเคลื่อนไหวของบริเวณข้อเท้า เมื่อกระดูกติดดีแล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกลับคืนมา รวมทั้งความยืดหยุ่น และพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อให้กลับมาเป็นปกติ