Follow Us on Fanpage

About Doctor

กลไกการได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่ของการเกิดกระดูกหักที่บริเวณส่วนต้นของกระดูกนิ้วเท้าที่ 5 proximal shaft of the fifth metatarsal (Jones fractures) 

           กลไกการได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่ของการเกิดกระดูกหักที่บริเวณส่วนต้นของกระดูกนิ้วเท้าที่ 5 proximal shaft of the fifth metatarsal (Jones fractures) เกิดขึ้นผ่านบริเวณที่มีลักษณะของ pre-existing stress fractures มาก่อน  กระดูกหักอาจจะเกิดขึ้นเองหรืออาจเกิดในขณะที่มีกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงลงบนเท้า เช่น การวิ่ง หรือมีความสัมพันธ์กับการเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อเท้าแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่มักจากอุบัติเหตุที่ทำให้ข้อเท้าบิดเข้าด้านในกระดูก  (inversion injury) ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีประวัติเคยมีอาการปวดมาก่อนที่บริเวณซึ่งเกิดจาก stress fracture

อาการ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการปวดแบบเฉียบพลันที่ตำแหน่งส่วนต้นของกระดูกนิ้วเท้าที่ 5 (proximal shaft of the fifth metatarsal) ในขณะที่ทำกิจกรรมและทำให้เกิดแรงกระทำต่อเท้า เมื่อกระดูกหักเกิดขึ้นร่วมกับการที่ข้อเท้าบิดเข้าด้านใน ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดเหมือนผู้ป่วยที่เป็นข้อเท้าแพลง มีลักษณะอาการปวดและบวมที่บริเวณด้านข้างนอกของข้อเท้า      

       แรงที่กระทำผ่านในส่วนตอนต้นของกระดูกนิ้วเท้าที่ 5(proximal shaft of the fifth metatarsal)  ในขณะที่เดินลงน้ำหนักมากกว่าแรงที่ส่งผ่านไปยังบริเวณ base of the fifth metatarsal     ผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักชนิดนี้สามารถที่จะเดินลงน้ำหนักได้ แต่จะมีผลกระทบต่อท่าทางการเดินของผู้ป่วยเป็นอย่างมากอันเนื่องมาจากการปวดจากกระดูกหัก

            การตรวจร่างกายด้วยการคลำจะพบว่ามีอาการปวดและกดเจ็บที่บริเวณส่วนต้นของกระดูกนิ้วเท้าที่ 5 (proximal shaft of the fifth metatarsal)       ภาพถ่ายทางรังสีจะพบลักษณะของกระดูกหักในส่วนต้นของกระดูกนิ้วเท้าที่ 5 บ่อยครั้งที่จะเกิดในตำแหน่งที่เคยมีลักษณะของ stress fracture มาก่อน ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการที่มี callus ขึ้นในบริเวณของกระดูกหักมาก่อน ถ้าไม่มี callus ที่ตำแหน่งที่กระดูกหักอาจจะให้การวินิจฉัยว่าเป็น acute Jones fracture

            แนวทางการรักษา วิธีการรักษาJones fracture ในปัจจุบันยังคงมีการโต้เถียงกันอยู่ นอกจากนี้การจำแนกชนิดของ Jones fracture สามารถแบ่งออกได้เป็น การหักของกระดูกแบบเฉียบพลัน (acute fractures) หรือการหักของกระดูกแบบเรื้อรัง (chronic fractures) ซึ่งเป็นการหักผ่านบริเวณที่เคยมีกระดูกหักแบบล้ามาก่อน (stress fracture) ซึ่งสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติของผู้ป่วย และการตรวจพบจากภาพถ่ายรังสี ผู้ป่วยที่มีการหักของกระดูกแบบเฉียบพลันจะไม่เคยมีอาการเจ็บปวดบริเวณด้านข้างของเท้ามาก่อน ในขณะที่การหักของกระดูกแบบเรื้อรังพบว่าผู้ป่วยจะเคยมีอาการเจ็บปวดในบริเวณด้านข้างของเท้าและอาการปวดอาจจะเป็นๆหายๆ ก่อนที่จะมามีอาการปวดแบบเฉียบพลัน จากภาพถ่ายทางรังสีพบว่าในกรณีที่เกิดการหักของกระดูกแบบเฉียบพลันลักษณะการแตกหักของกระดูกจะมีขอบเขตที่ชัดเจน และไม่พบลักษณะของการแข็งหรือผิดปกติภายในโพรงกระดูกของนิ้วเท้ามาก่อน  ส่วนในกรณีของการหักของกระดูกแบบเรื้อรังจะมีลักษณะของการหักที่มีขอบเขตไม่ชัดเจน พบร่องรอยของการซ่อมแซมกระดูก (periosteal callus) ตรงตำแหน่งที่เคยมีแรงเครียดกระทำมาก่อน ดังแสดงในภาพ

          

จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่ากระดูกหักชนิดเรื้อรังนี้มักพบในนักกีฬาที่เคยมีการแตกหักของกระดูกแบบล้ามาก่อน

            จากรายงานก่อนหน้านี้พบว่ากระดูกหักแบบเรื้อรังจะมีลักษณะของกระดูกไม่ติด (non-union) ประมาณร้อยละ 50 -60 จากการรักษาแบบอนุรักษ์โดยการใส่เฝือกและไม่ให้ลงน้ำหนักนาน 6 - 8 สัปดาห์ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่าในการรักษากระดูกหักแบบเรื้อรังควรทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูกให้เข้าที่และทำการยึดตรึงกระดูก สำหรับกรณีของการหักกระดูกแบบเฉียบพลันพบว่าการรักษาด้วยการใส่เฝือกและไม่ให้ผู้ป่วยลงน้ำหนักบริเวณเท้าพบภาวะกระดูกไม่ติดประมาณร้อยละ 25 - 44 ดังนั้นคำแนะนำในการรักษากรณีของการหักของกระดูกแบบเฉียบพลันจึงยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ใช่นักกีฬา มีน้ำหนักมากและไม่ค่อยออกกำลังกาย เป็นการยากที่จะให้การรักษาด้วยการใส่เฝือกและไม่ให้ผู้ป่วยลงน้ำหนัก ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าผู้ป่วยกลุ่มใดที่มีความเหมาะสมที่จะให้การรักษาด้วยการใส่เฝือกและไม่ให้ผู้ป่วยลงน้ำหนัก ดังนั้นแพทย์จึงควรให้ทางเลือกในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยทั้งวิธีการของการใส่เฝือกและไม่ให้ลงน้ำหนัก 6 - 8 สัปดาห์ และการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดจัดเรียงและยึดตรึงกระดูกด้วยการเปิดแผล (open reduction and internal fixation) รวมทั้งแจ้งผลของการรักษาทั้ง 2 วิธีเพื่อให้ผู้ป่วยทำการตัดสินใจในการรักษา ในการรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์ควรต้องคำนึงถึงอาชีพของผู้ป่วย การหยุดงาน สภาพร่างกายของผู้ป่วยและรวมทั้งสภาวะของอากาศ นอกจากนี้ควรแนะนำผู้ป่วยในเรื่องผลของการใส่เฝือกในระยะเวลานานที่มีผลทำให้เกิดการลีบของกล้ามเนื้อ สูญเสียความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อบริเวณขา รวมทั้งการสูญเสียพิสัยของการเคลื่อนไหวบริเวณข้อเท้า และระยะเวลาที่ใช้เพื่อให้ขนาด ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเท้ากลับมาปกติซึ่งอาจใช้ระยะเวลที่เท่ากับหรือนานกว่าระยะเวลาที่ใช้ในการใส่เฝือก